สิทธิสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น (สิทธิ อปท.)
ใครเป็นผู้มีสิทธิ อปท.
- ผู้มีสิทธิ หมายถึง พนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างประจำของ อปท. (ไม่รวมถึงพนักงานจ้าง) ,ผู้ได้รับบำนาญ ,นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนายกเทศมนตรีนายกองค์การบริการส่วนตำบล
- ผู้มีสิทธิร่วม หมายถึง บุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิ (บิดา มารดา คู่สมรส ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ และบุตรลำดับที่ 1-3 ที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (ไม่นับบุตรบุญธรรม)
การขึ้นสิทธิ ณ ต้นสังกัด
- ผู้มีสิทธิ ยื่นเอกสารเพื่อขอรับสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลสิทธิ อปท. ณ ส่วนราชการต้นสังกัด ดำเนินการลงทะเบียนในระบบทะเบียนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบสิทธิ อปท. ณ สถานพยาบาล
การดำเนินการของส่วนราชการต้นสังกัด
- ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว และบันทึกข้อมูลลงในระบบโปรแกรมทะเบียนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
- ข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบ และได้รับอนุมัติสิทธิจากนายทะเบียนของ ณ ส่วนราชการต้นสังกัดแล้วสามารถขึ้นสิทธิอปท. ได้ทุกวัน ตามรอบเวลาการปรับปรุงฐานข้อมูลของสปสช. เวลา 11.00 น. และ 15.00 น.
สิทธิประโยชน์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาล
- การเข้ารับบริการครอบคลุมการเจ็บป่วย ในทุกกรณี ซึ่งไม่รวมถึงการเสริมความงาม และการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้มีสิทธิ(เจ้าของสิทธิเท่านั้น)
- กรณีบุคคลในครอบครัว มีสิทธิอื่นร่วมด้วย จะเบิกจากสิทธิ อปท. ได้ในกรณีไหนบ้าง
- กรณีมีสิทธิข้าราชการร่วมกับสิทธิ อปท. ให้ใช้สิทธิเบิกจากราชการ
- กรณีมีสิทธิประกันสังคมร่วมกับสิทธิ อปท. สามารถเบิกส่วนต่างจากสิทธิ อปท.ได้ในกรณีต่อไปนี้เท่านั้น
- คลอดบุตร เบิกส่วนเกิน 13,000 บาท
- ค่าล้างไต (ส่วนเกิน 1,500 บาท)
- การเบิก vascular access ซ้ำภายใน 2 ปี
- ทำฟันส่วนเกินจากค่าอุดฟัน ขูดหินปูน และถอนฟัน ที่เกินจาก 900 บาท/ปี เท่านั้น
การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีตรวจสุขภาพประจำปี
- เฉพาะ ผู้มีสิทธิ (ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ)
- เบิกได้ตามรายการและอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดตามกลุ่มอายุ
- ตรวจได้ปีละ 1 ครั้ง ตามปีงบประมาณ
- สามารถเบิกได้ทั้งในระบบเบิกจ่ายตรง และใบเสร็จมาเบิกจากส่วนราชการต้นสังกัด