สิทธิประโยชน์ผู้สูงอายุ

 


เบี้ยผู้สูงอายุคืออะไร?

เบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการที่ทางภาครัฐ จัดสรรให้แก่ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้ จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือน อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ


ใครบ้างมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

  • ผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  • มีสัญชาติไทย
  • มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนอายุครบ 60 ปี ตัวอย่างวิธีการคำนวณอายุ เช่น ลงทะเบียนของปี 2565 ต้องเป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2504  ส่วนผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎร ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น ๆ
  • ผู้สูงอายุที่มีบุตรทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับเงินบำนาญพิเศษตลอดชีวิตแทนจากการที่บุตรปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศจนร่างกายพิการ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย รวมถึงผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการคนจนจากรัฐ ก็สามารถได้สิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกด้วย

วิธีหลีกเลี่ยงถูกเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

ต้องไม่เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. หรือ อบต.) อาทิ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด รวมถึงเงินอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับเงินเบี้ยยังชีพ เช่น ผู้สูงอายุที่เคยทำงานและได้รับเงินเดือน มีรายได้ประจำ หรือผลตอบแทนอื่น ๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


สิทธิและสวัสดิการที่ผู้สูงอายุ จะได้รับมีอะไรบ้าง

นอกจากจะรับเบี้ยยังชีพเป็้นเงินช่วยเหลือแล้ว ผู้สูงอายุยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุอื่น ซึ่งแบ่งเป็น 16 ด้าน ดังนี้


  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท/คน/เดือน

ลดค่าโดยสารยานพาหนะสาธารณะ ครึ่งราคา อาทิ รถไฟ, รถเมล์ขสมก., รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, รถบขส., เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ

ลดหย่อนภาษีแก่บุตรกรณีที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุ 3 หมื่นบาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี

ขอปรับสภาพที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงและเหมาะสม สามารถขอปรับสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมปลอดภัย เหมาจ่าย 22,500 บาท หรือ 40,000 บาทต่อคน

ด้านกู้ยืมเงินทุนปลอดดอกเบี้ย เพื่อประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุได้ คนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือรวมกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน กู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ระยะเวลาจ่ายหนี้เป็นเวลา 3 ปี

สิทธิด้านอาชีพ ผู้สูงอายุสามารถขอคำปรึกษา แนะนำ และสมัครงาน รวมทั้งฝึกอาชีพ

ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในพื้นที่สาธารณะ อาทิ พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฯลฯ ประกอบด้วย ลิฟท์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ฯลฯ

สิทธิด้านการศึกษาเพื่อผู้สูงอายุได้เรียนรู้ สอดคล้องกับความต้องการให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

สิทธิด้านการแพทย์ ผู้สูงอายุสามารถเข้ารับบริการดูแลสุขภาพต่าง ๆ ผ่านช่องทางพิเศษ

การช่วยเหลือด้านกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม มีบริการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้สูงอายุ เช่น ให้เงินค่าจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น

ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐแก่ผู้สูงอายุ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ เป็นต้น

เปิดให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สถานกีฬาต่าง ๆ ส่วนศูนย์กีฬาในร่ม ได้ลดค่าสมัครสมาชิกครึ่งราคา

ด้านบริการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม ถูกทอดทิ้ง มีอันตราย หรือถูกหาประโยชน์ โดยจัดหาที่พักอาศัยปลอดภัย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ

สิทธิด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม กรณีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา สามารถขอรับเงินช่วยเหลือได้คนละไม่เกิน 3,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง

กรณีผู้สูงอายุยากจนและขาดผู้ดูแล สามารถขอใช้บริการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้

กรณีผู้สูงอายุยากจนและเสียชีวิต ญาติสามารถขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันออกใบมรณะบัตร

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า